วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

วีซ่า นักศึกษา ฟินแลนด์





(อันที่จริงเรียกว่า Student residence permit ถึงจะถูกนะคะ)


กรณียื่นขอที่สถานีตำรวจที่ฟินแลนด์นะคะ นั่นหมายถึงว่า ต้องมาอยู่ที่นี่และสมัครเรียนที่นี่ได้แล้ว
สิ่งที่ต้องมีคือ
1.เงินที่อยู่ในบัญชี ประมาณ 7,000 ยูโรต่อปี (ควรเป็นชื่อเรา และต้องแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเงินนั้นพร้อมจะนำมาใช้ได้ในทุกกรณี) ป้าลีใช้บัญชีออมทรัพย์ที่เมืองไทยค่ะพริ้นท์เอาจากทางเน็ตแล้วเขียนอัตราแลกเปลี่ยนให้เป็นยูโร
2.ประกันสำหรับนักเรียนหนึ่งปี(อุบัติเหตุบวกสุขภาพ )   ซื้อประมาณ  300-400 ยูโรต่อปี(ทุนประกันเท่าไหร่ป้าลีจำไม่ได้แม่นนะคะ แต่จะไปดูกรมธรรธ์แล้วมาบอกใหม่ค่ะ)  ประกันตัวนี้ซื้อได้ที่บริษัทในฟินแลนด์จะดีกว่านะคะ ซื้อผ่านเน็ตค่ะ
ป้าลีติดต่อมาสองบริษัท ก็ราคาก็พอๆ  กันค่ะคุ้มครองเรื่องการเดินทางและของหายด้วยนะคะ
3.หนังสือรับรองการเป็นนักเรียน/นักศึกษา จากสถาบันที่เราได้ไปเรียน   ระยะเวลาการเรียน สองปี (ตำรวจบอกว่าต้องเป็นหลักสูตรต่อเนื่องสองปีอย่างต่ำนะคะแต่จะออกวีซ่าให้ครั้งละ หนึ่งปีค่ะแต่ดูในเว็บไซด์ไม่เห็นจะบอกว่าต้องเป็นหลักสูตรสองปี)
รายละเอียดเพิ่มเติม ตามลิ้งค์นะคะ
เรื่องสิทธิประโยชน์ของวีซ่านักเรียน
จะเป็นพวกสวัสดิการทางสังคมค่ะ เช่น ค่ารถโดยสารรายเดือน  ค่ารถไฟในราคานักศึกษา (ค่ารถไฟในฟินแลนด์แพงมากเช่น จังหวัดที่ป้าลีอยู่ชื่อ ยูวาสกูล่ะ Jyväskylä ห่างจากเฮลซิงกิ สามร้อยกว่า กม. รถไฟไปกลับเฮลซิงกิประมาณ 110 ยูโร
 นั่นคือราคานี้ใช้นั่งเครื่องบินโลคอสไปเที่ยวประเทศใกล้เคียงกันได้สบายๆ)
ค่าอาหาร ค่าฟิตเนส สระว่ายน้ำ หรือ อื่นๆที่จะมีราคานักเรียนนักศึกษาให้ค่ะ

ส่วนเงินช่วยเหลือนักศึกษานั้นกรณีอยู่กับครอบครัวในฟินแลนด์และเป็นนักศึกษาของที่นี่ จะมีเงินช่วยเหลือ เดือนละหลายร้อยยูโร เช่นกัน อันนี้ป้าลีไม่ลงตัวเลขเพราะว่า หาไม่เจอว่าจดเอาไว้ตรงใหน เพราะคุยกับเกล่าเอาไว้นานแล้ว(ขอโทษค่ะ)
 และการขอใช้สิทธราคานักเรียนนั้น ต้องโชว์บัตรนักศึกษาตลอดนะคะ    (เรียนบางคอร์สทางสถาบันไม่ออกบัตรนักศึกษาให้นะคะ ป้าลียกไปเล่าเกี่ยวกับเรื่องเรียนก็แล้วกัน)

วีซ่านักศึกษา ป้าลีขอไม่ยาก ขอสิบวันเอง ก็ได้วีซ่ามาครองแล้วค่ะ และตำรวจให้การช่วยเหลือดีมากๆ(ดีสุดๆ)

วิธีการยื่นขอวีซ่า ก็ปกตินะคะ เหมือนเรายื่นขอเรสฯ หลังแต่งงานธรรมดา

หมายเหตุ เรื่องของค่าใช้จ่ายทางด้านการศึกษาจะไปลงรายละเอียดเกี่ยวกับทางการเรียนอีกทีนะคะ แต่การเรียนที่นี่ไม่แพงค่ะ  ถูกมากๆ เช่น ป้าลีเรียนภาษาภาคค่ำ จะเรียนกี่ภาษาก็ได้ จ่ายแค่ ปีละ  85 ยูโรเองค่ะ(ปีละนะคะ)


สาเหตุที่ไม่ชอบ "คนไทนในต่างแดน" ก็เพราะมันเป็นแบบนี้แหละ




ป้าลีเป็นอีกคนหนึ่งที่สังคมคนไทยน้อยมาก ใครจะว่ายังไงก็เถอะ  เรื่องมันมีที่มาและที่ไป
ทำให้รู้สึกเสียใจและผิดหวัง กับเรื่องราวที่    “โดน” แล้วก็เข็ดขยาดไปเลย ถ้าใครไม่โดนกับตัวจะจินตการไม่ออกแน่ๆ
และอีกหลายคน ที่“โดน”  คล้ายๆ กันกับป้าลีก็คงรู้สึกไม่ต่างกันมากนัก ทำให้เราเก็บตัว บ้านใครบ้านมันถือว่าเจ็บตัวน้อยสุดแล้ว...
....................................................................................................................................

ขี้อิจฉา..... อิจฉาได้ทุกเรื่อง ทุกเหตุการณ์ เรื่องกิน  เรื่องนอน เรื่องเที่ยวเรื่องสามี เรื่องทุกรูขุมขน .....อันนี้อยู่เฉยๆต่อให้ไม่ทำอะไรก็โดนอยุ่ดี

ขี้นินทา...... ถูกจับผิดตลอดเวลาจะโดดเรียน  จะบ้าเรียน จะโง่จะฉลาด โดนหมด

ขี้งก เอาเปรียบ....... ไม่อยากจ่าย ถือว่าตัวเองทำงานมาเหนื่อย  ขอฟรีๆ ก็แล้วกัน...นั่น

ขี้อวด.... เรื่องนี้ มันละเอียดอ่อน... บางทีคนเค้าก็แค่เล่า.. แต่คนฟังเข้าใจไปว่าเค้าอวด...
ซึ่งก็เกิดได้ทั้งตัวเราและตัวเค้า อันนี้ ก็ต้องพิจารณาว่า จริงๆแล้วเค้าอาจไม่มีเจตนาจะอวดก็ได้ แต่หลายคน ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมี ตัวเองได้เค้าก็ดีใจเป็นธรรมดา... อันนี้เราก็แอบดีใจไปกับเค้า เพราะว่าเราก็เห็นมาเยอะที่ผู้หญิงไทย หลายๆ คน กว่าจะได้อะไรบางอย่างนั้นยากเย็นแสนเข็ญจริงๆ นะคะ... 
แต่ก็อีกหลาย เช่นกัน ที่อวดจนเกินหน้าเกินตา เช่น มี สิบ...อวดไปร้อย แบบนั้นเลย

กล่าวหาว่าร้าย ป้ายสี  ตีไข่.... อันนี้โดนเต็มๆ ... ใส่ความถึงขนาดว่า หยาบคายและเสียๆ หายๆคือ ให้ตายไปข้างหนึ่งกันเลยทีเดียว... เจอแบบนี้เรียกว่า ถ้าใจไม่แข็งพอ คงได้นอนร้องไห้ เศร้าโศกไปหลายเพลา ไม่เข็ดก็ให้มันรู้ไปสิน่า

รบกวน ไม่บอกไม่กล่าว ละลาบละล้วง วุ่นวายไปซะหมด จะมาจะไปไม่บอกกล่าวล่วงหน้า อยากจะมาก็มาเลย
อันนี้หลายคนเป็น  (และยังเป็นอยู่นะคะ เช่น มาหาตอนหกโมงเช้าโดยที่ไม่โทรบอกล่วงหน้า )

จะหยิบจะจับ จะฉวย จะยืม อะไรก็ถือเป็น “วิสาสะ” อันนี้เบื่อมาก

ส่วนเพื่อนคนไทย ที่ดีและน่ารัก ก็มีค่ะ แต่ยอมรับว่ามีไม่มาก  ( สอง สาม คนล่ะมั๊ง) คนไทยที่รู้สึกดีต่อกันจริงๆ
เค้าก็เตือนๆ กันแบบนี้แหละค่ะ ว่า อย่าไปสุงสิงกับหมู่คนไทยมาก  เป็นกันทุกรุ่นจริงๆ นะคะ มาใหม่ๆ จะได้ยินประโยคนี้ เหมือนกันทุกราย(จริงมั๊ยคะ)

ตัวเราเองก็ไม่ใช่ว่าจะดีไปกว่าใคร แต่เราก็มีบรรทัดฐานของ คำว่า “เหมาะสม” และ “ดีงาม” ตรงนี้มันถูกสอนกันมาตั้งแต่เล็กแต่น้อยกันแล้วแหละ
จากครอบครัว โรงเรียน สังคม จะกล่อมเกลาเรามาระดับหนึ่งแล้ว ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ
หน้าที่การงาน การศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเรารู้ว่าจะปฏิบัติตัวเช่นไร ให้สมควรต่อสังคม


ก็บ่นๆ ค่ะ... ยิ่งบางครั้ง เราช่วยเหลือใครไป  แล้วได้รับผลร้ายตอบกลับมาแทนคำขอบคุณ เราก็ไม่อยากจะยุ่งกับคนอีกต่อไป  เพราะว่ารู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น
 ทำให้ คนไทยรุ่นน้อง หลังๆมา จะ รู้สึกว่า เอ๊ะ ทำใมรุ่นพี่บางคน เค้าหยิ่งๆ จังเลย หยิ่ง ถือตัว มั่งล่ะ อะไรมั่งล่ะ

คือ เค้าไม่รู้ไงคะ ว่า เราโดนอะไรมาบ้าง....กว่าจะรู้ก็ปาเข้าไปหลายปี คือกว่าจะรู้ก็คือเจอกับตัวนั่นแหละ เลยเข้าใจเอง...

นี่ยังไม่รวมเรื่องเสื่อมเสีย กับสาวไทย (บางคน) ที่ยังมีนิสัยเจ้าชู้ ไม่สื่อสัตย์ กรณีแบบนี้ก็ได้แต่รีบเผ่นหนีออกไป เพราะกลัวไปติดกลุ่มที่ “ถูกถามค่าตัว” ซึ่งเราไม่รู้ว่า ใครมี “รับจ๊อบพิเศษ”หรือเปล่า
อันนี้เป็นประเด็นหลักๆ ที่ป้าลีกลัวมากเพราะมันเป็นทั้งหน้าตาตัวเอง และหน้าตาสามีอีกด้วย... หลายคนไม่แคร์สื่อ (จริงๆนะคะ ยิ่งกรณีอยู่ ต่างจังหวัดแล้วด้วย คนจะรู้จักกันเพราะจังหวัดมันเล็ก และคนน้อย)


ไม่ใช่ว่าจะมากล่าวหากันเอง..... แต่เรื่องมันเกิด ก็เอามาบอกกล่าว  เผื่อคนมาใหม่ ที่ไม่เข้าใจว่าทำใม “คนไทยรุ่นพี่”
ถึงหยิ่ง จังเลย... นี่แหละ มันหลากหลายสาเหตุ...


ส่วนตัวป้าลี ไม่ใช่เสือยิ้มยาก... ยิ้มมีแจกฟรี ก็แจกไม่อั้น...  บางทียิ้มให้คนไทยด้วยกัน นางมองกลับมาตั้งแต่หัวยันเท้า...
เออนะ... ก็ไม่ได้แต่งโป๊นะจ๊ะ ...แต่ก็โดนไง...
เจอกรณีแบบนี้ให้นึกถึงคำพูดป้าลีเอาไว้ก่อนเลยว่า  อย่าพึ่งไปตัดสินเค้า
เพราะบางทีเค้าก็โดนมาเยอะ แบบป้าลีนี่แหละ... มันก็เลยเจ็บปวดเข้าไปในตับ เข้าไปในไต...

แต่สิ่งหนึ่ง ที่เราๆ รู้กันก็คือ “ใครทำอะไรไว้ ก็ได้ผลกระทำของตัวเองนั่นล่ะ” ปลูกตำแย   จะให้ได้ผลเป็นมะม่วง มันจะเป็นไปได้ยังไง...


วันนั้น ป้าลีเคยโพสต์ในเฟซบุ๊ค   ว่า

“คนที่กระทำตัวเป็นขี้  ก็จะได้แค่คนที่ชอบเล่นขี้นั่นล่ะ มาเลือกเราไป เพราะของมันเหมาะสมและคู่ควรแก่กัน”

ตรงนี้ถ้าถามว่า ป้าลีว่าใคร... ขอบอกเลยว่า ....  ป้าลีว่าทุกคนที่ทำตัวเป็น “ขี้”
ที่ทำให้เสื่อมทั้งตัวเอง ทั้งเพื่อนคนไทย รวมไปถึง ประเทศชาติ... นั่นแหละที่ทำใมฝรั่งหลายคนยังดูถูก “สาวไทย”อยู่    ก็เพราะเค้าได้เห็นในส่วนหนึ่งของ บรรดา “คนเป็นขี้” กระทำเอาไว้ไง..

ขอบคุณค่ะ  ที่ติดตาม...



เก็บบลูเบอรี่ไปขายตลาดค่ะ

สวัสดิการ นักศึกษา ในฟินแลนด์

สวัสดิการ นักศึกษาฟินแลนด์ และกรณีขอไปเรียนนอกประเทศฟินแลนด์

สำหรับใครที่ไม่ได้ติดตามบล็อคเรื่องเรียน แนะนำอ่าน การเรียนคอร์สวิชาชีพ ที่เป็นโปรแกรมเบสิคสำหรับต่างชาติที่ต้องมาอาศัยในฟินแลนด์ก่อนนะคะ เพราะว่าไม่งั้นจะงงนิดหน่อย


http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=leejayfinland&date=27-11-2013&group=18&gblog=13.....................................................................................................................


วันนี้ป้าลีไปเกล่าหลังจากได้วีซ่า ประเภทครอบครัวมาแล้วหนึ่งอาทิตย์(Residence  Permit)
อยากรู้ว่า 

กรณีที่เราไม่เรียนต่อสายอาชีพและอยากย้ายไปเรียนต่ออย่างอื่น สวัสดิการที่นี่จะเป็นยังไงไม่รู้คนอื่นมีคำถามแบบนี้มั๊ยนะ 

แต่ป้าลีอยากรู้มานานแล้ว(สอบถามกับ พนง.เกล่า ในห้องโดยตรงแต่จะต้องไปกรอกใบสมัครและเลือกให้แน่ว่า จะขอรับสวัสดิการนักเรียนหรือสวัสดิการเงินตกงานกันแน่ ก็เลยยังไม่ได้คำตอบร้อยเปอร์เซ็นต์ป้าลีก็เลยได้แค่ข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำมาตัดสินใจ อีกรอบหนึ่งก่อน)

กรณีไปเรียนต่อ ปริญญาเอก ในสาขาต่างๆ ของฟินแลนด์ คำถามคือสวัสดิการเงินช่วยเหลือจากรัฐจะเป็นยังไง?

 
คำตอบคร่าวๆ จากเกล่าก็คือ กรณีถือวีซ่าครอบครัว สิทธิในการเรียนต่อมหาวิทยาลัย  จะได้ 290ยูโร(โดยประมาณ) ต่อเดือน อันนี้เราพอรู้กันอยู่แล้วล่ะ(แต่สิ่งที่แตกต่างกันระหว่าง จบวิชาชีพ กับจบจากมหาลัยนั้น ทำชีวิตเปลี่ยนแปลงยังไง ตรงนี้มีใครตระหนักมั๊ย และตระหนักมากแค่ใหน? (อ้อ...ป้าลีลืมถามไปว่ามีกำหนดมั๊ยว่ากี่ปี เพราะว่าเงินช่วยเหลือในการปรับตัวสามปีแรกสำหรับคนไปเรียนภาษาและต่อวิชาชีพนั้น จะมีการลดลงใน 200 วันทำการ)

คำถามถัดมาคือ กรณีป้าลีจะไปเรียนต่ออังกฤษ ระยะเวลาหนึ่งปี ในมหาวิทยาลัย สาขา การจัดการด้านกีฬากอล์ฟ (กะว่ากลับมาทำงานในสนามกอล์ฟหรือจัดการเชิงธุรกิจด้านกอล์ฟ ร่วมกับโปรฯ กอล์ฟและทางสนามกอล์ฟ)  แนวคิดป้าลีเวอร์มั๊ยคะ?      ไม่เว่อร์ค่ะ เป็นแบบนั้นจริงๆ  
คำตอบที่ได้คือ   ได้เงินสวัสดิการเท่ากันกับเรียนในฟินแลนด์แต่ถ้าไม่พอ สามารถขอสิทธิกู้ได้ไม่เกินเดือนละ 600 ยูโร(ถ้าอยู่ในฟินแลนด์ กู้ได้ ไม่เกิน  350ยูโรต่อเดือน)  และดอกเบี้ยก็น้อยนิด(ประมาณ หนึ่งเปอร์เซ็นต์เกล่าบอก แต่เค้าใช้คำว่าประมาณ ดังนั้นป้าลีจะต้องไปหาคำตอบที่แน่ชัดอีกทีค่ะ)

ในเคสป้าลีตอนแรกเค้าบอกว่ากรณีขอกู้เงินนักศึกษาไม่รู้ว่า มีจำกัดเรื่องอายุหรือเปล่านะแล้วเค้าก็เช็คหน้าจอ บอกว่าเท่าที่หาตอนนี้ไม่เจอนะ(นั่นแปลว่ากรณีที่ป้าลียื่นใบสมัครไป เค้าจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าจะต้องไม่ติดเงื่อนไขใดๆ)

เอาล่ะพอเป็นแนวทางว่า ถ้าเรามาอยู่ฟินแลนด์แล้ว เรามีทางเลือกการศึกษาในหลายๆ ทาง และฟินแลนด์มีให้เรียนหลายสาขา ทั้งเรียนฟรี หรือเสียเงินบ้างแต่นิดหน่อยเท่านั้นเอง
นอกจากนั้นก็ยังขอไปเรียนนอกประเทศฟินแลนด์ได้อีกด้วย โดยได้เงินสวัสดิการเหมือนกับว่าเราเรียนในฟินแลนด์นั่นแหละ (แต่ถ้าไปเรียนในโครงการของเตื้อวอยม่ะ ตอยมิสโต่จะได้เงินสวัสดิการ เกือบๆ แปดร้อยยูโร ต่อเดือน หลังภาษีนะคะคือได้มากกว่าเงินนักศึกษานั่นเอง)

(หลังจากที่ป้าลีตัดสินใจได้ว่าจะเรียนในฟินแลนด์หรือนอกฟินแลนด์แล้วก็จะไปสมัครขอเงินสวัสดิการจากเกล่าถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลงจะกลับมาแจ้งให้ทราบค่ะ)


วิธี ซ่อมกางเกงยีนส์

วิธีซ่อมกางเกงยีนส์



 วิถีชีวิตเมืองนอก เรื่องหนึ่งเลยที่เราได้ติดตัว คือการประหยัด... หลายๆคนคงเป็นแบบเดียวกับป้าลี

เพราะนอกเหนือจากของจะแพง แล้ว เรายังรู้สึกว่า การอยู่ประเทศที่ค่อนข้างลำบาก เช่น ฟินแลนด์ เพราะเค้าหนาว ซึ่งหลายๆ อย่างทำให้เรารักสิ่งแวดล้อม และ ทรัพยากรไปกลายๆ เลย ก็ของทุกอย่างกว่าจะหามาได้นั้น เค้าต้องลำบากแสนเข็ญ เลยต้องประหยัด


(อันที่จริงป้าลีเป็นคนที่ประหยัดมาก ทุกอย่างทุกเรื่อง ไม่มีคำว่าบ้าแบรนด์แน่นอน แต่ด้วยความที่เป็นนักลงทุน ก็จะขัดแย้งในตัวนิด ว่า อันใหนต้องจ่ายแพง เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ตอบแทน สูง และอันใหนไม่ควรจะจ่ายเลย เพราะว่า ไม่ทำเงินให้งอกเงย ตรงนี้เรียนรู้กันไปนะคะจะได้รู้จักกันมากขึ้น คงไม่ว่ากันถ้าเราจะมีความเห็นที่แตกต่าง)


ก่อนหน้านี้ ยายพร(แม่น่ะค่ะ) เป็นคนที่ชอบ เย็บผ้าเอง ซ่อมผ้าเอง ภาพแบบนี้เห็นบ่อยๆ จนชินตาค่ะ เราก็เลยได้เรื่องการซ่อมผ้า เย็บผ้ามาตั้งแต่เป็นเด็กหญิงตัวเล็กๆ แล้วแหละ


พอมาอยู่ฟินแลนด์ ได้มีโอกาส ได้เรียน จักรเย็บผ้า (ออมเปลุ่ กอเน่ ในภาษาฟินแลนด์) ก็ทำให้ป้าลีชื่นชอบหนักไปกว่าเก่าอีก ถึงขนาดฝันหวาน ว่าจะต้องไปเรียนวิทยาลัยเพิ่มเติมอีก สอง หรือ สามปี ในสาขา ออกแบบและตัดเย็บ กันเลยทีเดียว


การซ่อมกางเกงยีนส์ เป็นอีกโปรเจคที่ ต้องทำ เพราะว่า ยีนส์แต่ละตัว ที่เรารักน่ะ มันไม่ใช่จะหากันได้ง่ายๆ ยิ่งที่ฟินแลนด์ ยีนส์ดีๆ สักตัว ราคาเกิน สองพันสามพัน แน่นอน แต่ใส่ได้นาน ของป้าลีบางตัว ชอบมาก ใส่ได้เจ็ดปีแล้วนะ ก็ยังชอบอยู่

( ของ ถูกๆ ก็มีค่ะ เช่น H&M ราคา หกร้อยบาทเองมั๊ง แต่คุณภาพก็ตามราคาอ่ะนะ ใส่แล้ว ก้นเป็นอะไรไม่รู้ ไม่เป็นก้นน่ะค่ะ)
เวลากางเกงยีนส์ขาด เค้าจะมีหน้าตาแบบนี้ค่ะ ขาดหลักๆ เลยคือ หัวเข่า ตรงก้น



การเย็บจะเย็บไปตามแนวของด้าย ในยีนส์นะคะ (เย็บมือนะคะ ในการซ่อมแบบนี้) เย็บกลับไปกลับมาแบบนี้แหละค่ะ ทำเข็มให้ขึ้นลงๆ ระมัดระวัง ระยะเข็มด้วยนะคะ เพราะว่า มันจะสวยจะขี้เหร่ก็ตรงเข็มขาขึ้นนี่แหละค่ะ ถ้าขาขึ้นเป็นระยะห่าง ด้ายที่ซอยตามมาจะโผล่มาก ทำให้มองไม่สวย... (มองภาพประกอบเน๊อะ)









หน้าตาก็จะได้แบบนี้แหละค่ะ... ส่วนข้างในก็จะได้แบบในภาพ




เสร็จแล้วจะได้แบบนี้นะคะ เห็นมั๊ยคะ ว่าไม่มีรอยด้ายโผล่...  (รอยขาดยังอยู่นะคะ แต่มันจะได้  "ขาดแบบศิลป์"  อิอิ



ด้านในค่ะ


ง่ายๆ นะคะ...แต่ใช้เวลานานนิดหน่อยค่ะ  ในการซ่อมแบบนี้

ถ้าจะให้เร็ว ก็ปะ แล้วใช้จักร เยียบเลย แต่ส่วนตัวป้าลีไม่ชอบแบบนั้น มันไม่สวย แบบนี้ คลาสสิคกว่า... ว่ามั๊ยคะ

วิธีทำกางเกงกันหนาว

ใครอยู่เมืองหนาวแล้วมีปัญหา แวะมาทางนี้

มาทำกางเกงกันหนาว กันลม ให้อุ่นกันค่ะ ป้าลีไปซื้อใยสังเคราะห์ที่ร้านผ้ามาค่ะ


ใยนี้มีหลายเกรด หลายราคานะคะ สองยูโรต่อเมตรก็มี (เป็นผ้าหน้ากว้าง เมตรห้าสิบนะคะ หมายความว่า ความกว้างของผ้าจะกว้างกว่าปกติ เวลาที่เราซื้อผ้า เค้าจะเอาไม้เมตรมาวัด อันนั้นเรียกว่า ทางยาว... แต่หน้ากว้าง มันจะมาเป็นหลาอยู่แล้ว ราคาก็จ่ายตามทางยาว กี่เมตรก็ว่าไป)




ใยนี้จะหนากว่าแบบสองยูโรต่อเมตรหน่อยนะคะ (ราคา 3.59 ยูโรต่อเมตรค่ะ) มีแบบหนากว่านี้อีก สำหรับทำเสื้อโค๊ทกันหนาว (โครงการถัดไปจะทำเสื้อกันหนาวแล้วใส่ใยแบบที่อุ่นๆ กะให้อุ่นไปติดลบ สี่สิบห้าสิบกันไปเลย)


เหตุที่ต้องทำก็เพราะว่า ป้าลีมีเรียนสกีพรุ่งนี้แล้ว... เป็นหลักสูตรดาวฮิล ซึ่งป้าลีไม่มีพื้นฐานมาก่อน แต่ใจอยากเล่นมาก ตั้งใจมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ได้ทำสักที


ทีนี้เวลาไปสกี มันจะหนาวมาก ก็เลยต้องเตรียมการกับกางเกงก่อน เพราะว่า ป้าลียังไม่ได้ซื้อชุดสกี (แพงมาก ประมาณ ห้าร้อยยูโร ไม่รวมเซ็ตสกีและรองเท้า) 




ส่วนเสื้อกันหนาวมีแล้ว ... อย่างที่ป้าลีบอกการอยู่เมืองหนาวสำคัญมาก เรื่องเสื้อผ้าต้องพร้อม ไม่งั้นจะหนาวสุดๆ
(ตามอ่านทิ่ลิ้งค์เรื่องเสื้อกันหนาวได้นะคะ มันจำเป็นต้องรู้ ไม่งั้นจะมาบ่นหนาวๆ แล้วพาลไม่ออกจากบ้านกัน ไม่ออกกำลังกาย ปล่อยจิตใจให้หดหู่ ไม่ดีๆ นะจ๊ะ สาวๆ)


http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=leejayfinland&date=04-11-2013&group=18&gblog=7


ก่อนอื่นก็ผ่าไส้มันออกมา โดยการเลาะด้านข้างของขากางเกงด้านใน กลับด้านในออกมาก่อนเน๊อะ   (ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับด้านนอกเลยนะคะ) 

แล้วเอาใยสังเคราะห์ ที่เราตัดเท่าขากางเกงเอาไว้แล้ว ยัดเข้าไป แล้วกลับมาเย็บด้านนอก










ก่อนเย็บด้านนอก ก็เย็บกางเกงกับใยให้เข้ากันก่อน (ตามรอยของเก่าเค้านั่นล่ะ) เพื่อกันไม่ให้ กางเกงมันพองเป็นแหนมป้าย่น



ตรงรอยลูกศร นั่นล่ะคะ ให้เย็บใยฯ ติดกับผ้ากางเกงเพื่อไม่ไห้มันพองลม






จะได้หน้าตาแบบนี้ก่อนเย็บขอบข้าง เพื่อปิดค่ะ



    เสร็จแล้วก็เย็บ ขอบ จะเย็บมือหรือ เย็บจักรก็ได้ค่ะ... งานง่ายมากๆ สามารถทำเองที่บ้านได้สบายๆ  ไม่ต้องมีจักรเย็บผ้าก็ได้


ส่วนเรื่องของจักร... ยี่ห้อนี้ดีมากค่ะ (ป้าลีใช้ที่โรงเรียนอยู่ก่อนแล้ว เลยรู้ว่าต้องหายี่ห้อนี้เท่านั้น)
ป้าลีซื้อมาจากร้านมือสอง สี่สิบ ยูโร และเราเปลี่ยนกระสวย(เรียกงี้มั๊ง) ได้ ง่ายๆ เลย เอาไว้ป้าลี รีวิวเรื่องจักร์ ให้ดูนะคะ (จักรจาก พริสม่าไม่ดีนะคะ อย่าไปซื้อ)

วันพฤหัสบดีที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ค่าครองชีพในฟินแลนด์

ประเทศฟินแลนด์ ดินแดนแห่งสแกนดิเนเวียแห่งนี้ ถ้าดูตามแผนที่(จากกูเกิ้ล) จะเห็นว่า ติดกับหลายประเทศ
และทริปท็อบฮิตที่ใครมาถึงฟินแลนด์แล้วมักจะนั่งเรือต่อไปยัง สต็อคโฮมที่สวีเดน หรือ นั่งเรือไปเมืองตาลลินที่ประเทศเอสโตเนีย หรือจะถ้าอยากนั่งเรือไกลกว่านั้นก็จะเป็นเมือง ริก้า ที่ประเทศลัทเวีย.. หรือเมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์กที่รัสเซียก็ดี

ก็จะเป็นทริปที่ทำได้สะดวกและถูก ถ้านั่งเครื่องก็จะหาตั๋วถูกได้ตลอดปีเช่นกัน ถ้าไปประเทศเพื่อนบ้านเช่นเมืองริก้า หรือไปบาเซโลน่าหรืออื่นๆ แถวๆนี้ ตั๋วเครื่องบินก็จะเริ่มที่ประมาณหนึ่งร้อยยูโร (เรียกว่าถูกมาก ที่เหลือก็เป็นค่าโรงแรมและเรื่องกิน)

ค่าครองชีพที่เฮลซิงกิ ก็ถือว่าค่อนข้างแพงติดอันดับท็อปพอสมควร เช่น เบียร์หนึ่งแก้วในบาร์ที่เฮลซิงกิ ก็ประมาณ 7 ยูโร

แต่ถ้าเบียร์กระป๋องในซุปเปอร์มาร์เก็ตก็ราวๆ หนึ่งยูโรขึ้นไป... หมูบดผสมกับเนื้อ60/40 เปอร์เซนต์ น้ำหนัก 400กรัม ราคาก็ประมาณ 5 ยูโร ปลาซามอลก็จะ ไม่เกิน 20 ยูโรต่อหนึ่งกิโลกรัม ผักกระหล่ำปลี กิโลกรัมละ หนึ่งยูโรกว่าๆ

ถ้าเป็นอาหารในร้านเอเชีย เช่นข้าวหอมมะลิ เมล็ดหัก 5% สามสิบ กิโลกรัม ราคาก็จะประมาณ สี่สิบยูโร

มาม่าต้มยำหนึ่งห่อ ราคา 0.70 ยูโร แต่ไวน์ที่นี่ถูกนะคะ ยี่ห้อไม่ดังก็สตาร์ทกันที่ 7 ยูโร

 (ที่ประเทศอื่นถูกกว่านี้   )แต่รสชาติส่วนใหญ่จะอร่อยค่ะ อร่อยมากกว่าไวน์ขวดละสองพันที่เมืองไทย 

(ถ้าใครที่ดื่มไวน์ในเมืองไทยราคาขวดละห้าพันขึ้นไป รสชาติก็จะเทียบเท่ากับ ขวดละ 7 ยูโรของที่นี่....ในความคิดเห็นของป้าลีนะ)

ส่วนอาหารนอกบ้านเช่น ร้านพิซซ่าในห้าง พิซซ่าบาบีคิวหนึ่งถาดพร้อมโค๊กแก้วใหญ่ ราคาก็จะประมาณ สิบห้ายูโร(หกร้อยกว่าบาท)

ส่วนถ้าเป็นอาหารแบบบุฟเฟเช่นร้าน ไชน่า ราคาก็จะประมาณ สิบกว่าๆ ยูโร

ถ้าเป็นอาหารดินเนอร์แบบที่ไม่ถึงกับเริ่ดมากมายที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า เช่น สเต็กปลา ราคาก็จะประมาณ 30 ยูโร

ส่วนตามร้านที่หรูขึ้นมาหน่อย ก็จะประมาณ 50ยูโร ไม่รวมเครื่องดื่ม (เบียร์ประมาณ 7 ยูโร)

และถ้าเป็นร้านแบบภัตาคารหรือที่เราไปดินเนอร์กรณีพิเศษ เช่น วันเกิด ครบรอบแต่งงาน หรือ อะไรก็ดี

 ราคาก็จะแพงขึ้นมาหน่อย เช่น ในหนึ่งเซ็ต มีซุปเห็ด ตามด้วย สเต็ก แล้วตามด้วย ของหวาน เช่น ไอสครีม แล้วส่วนประกอบก็จะมี ขนมปังหั่นชิ้น ชีส ชา กาแฟ มีช็อคโกแล็ตร่วมนิดหน่อย ราคาเซ็ตนี้ก็จะประมาณ เกือบๆ ร้อยยูโร (คือ ถ้าเมนูอื่นก็บวกลบบ้างนิดหน่อย ตามประเภทอาหาร)

และบุฟเฟอาหารไทย ก็จะประมาณ สิบกว่ายูโรขึ้นไป ส่วนเมนูส้มตำ ก็จะอยู่ที่ 15 ยูโร(หกร้อยบาท) โดยประมาณ รวมไปถึงเมนูอื่นๆ ซึ่งถ้าเราสั่ง สองเมนู ก็จะอยู่ราวๆ ห้าสิบ หรือ เจ็ดสิบยูโร สำหรับทานคนเดียวและไม่รวมเครื่องดื่ม...

ถ้าเป็นเกี่ยวกับกีฬาเช่น กอล์ฟ จะแพงพอๆกับบ้านเรา(แสดงว่าบ้านเราแพงมากกกกกกก)
 เช่น สนามที่ถูกที่สุดจะมีค่ากรีนฟี 30 ยูโรต่อ 18 หลุม ไม่มีแคตดี้ ถ้าจะเอารถก็25 ยูโรต่อ สิบแปดหลุม (สนามหรูก็จะแพงกว่านี้อีก) ถ้าเป็สนามไดร์ฟกอล์ฟ ก็สองยูโรต่อ 30 ลูก

แล้วถ้าเป็นฟิตเนส ว่ายน้ำ(สถานที่สำหรับเยาวชนไม่ใช่ในโรงแรมหรือพวกสปาไฮโซ) ราคาสมาชิกก็ตกประมาณ สิบยูโรต่อครั้ง... (ป้าลีจ่ายราคานักศึกษาก็ หกยูโรต่อครั้ง) 

ราคาค่ารถเมล์ในเฮลซิงกิ ก็ประมาณ สองยูโรต่อเที่ยว(ถ้าไม่มีบัตรหรือขึ้นแบบครั้งคราวก็ 2.5 ยูโรถ้าป้าลีจำไม่ผิด)

ถ้าเป็นรถเมล์ต่างจังหวัดจะแพงกว่าในเฮลซิงกิ สตาร์ทที่ 2.5 ยูโร หรือ เดือนละ หกสิบยูโรในราคานักศึกษา



ส่วนราคาที่พัก เช่น อพาร์ทเม้นท์ในเฮลซิงกิ 50 ตรม.นอกเมืองนิดหน่อย ที่มีซาวน่าในตัว ราคาเช่าก็จะอยู่ระดับ 800 ยูโรขึ้นไป ต่อเดือน(อันนี้ถือว่าถูกแล้ว) แต่ถ้าเป็นโซนในเมืองก็จะหนึ่งพันยูโรอัพ.... ตามสภาพ ขนาดห้อง และแอเรียอีกทีนะคะ

แต่ถ้าพูดถึงราคาบ้านและที่ดิน... (อันนี้ป้าลีถนัด) ถ้าเป็นโซนนอกนอกเฮลซิงกิ เช่นที่เรียกว่า วานต้า เอสโป ฯลฯ หรือที่เรียกว่าเป็นเมืองปริมณฑล อพาร์ทเม้น ห้าสิบตรม.ขึ้นไป มีซาวน่า มีระเบียง ราคาจะเริ่มสตาร์ทกันที่ 150,000 ยูโร (แค่สตาร์ทนะคะ) ส่วนในเฮลซิงกิก็จะแพงขึ้นอีก คือสตาร์ทที่ประมาณ 180,000 ยูโร

เช่น หลังนี้ เจ็ดสิบ ตรม. ราคาไม่เกิน 200,000 ยูโร


แต่ถ้าเป็นบ้าน ประมาณ หกสิบ ตรม. (บ้านทาวเฮาส์) โซนปริมณฑล ราคาก็จะสตาร์ทกันประมาณ 175,000 โดยประมาณ (ประเภทที่เป็นเจ้าของที่ดินได้ เพราะจะมีอีกประเภทที่เช่าที่ดินระยะยาวและเป็นเจ้าของไม่ได้อีกแบบด้วย) แต่ถ้าแปดสิบหรือเก้าสิบ ตรม.ขึ้นไป และสภาพดูสวยหน่อย ก็จะประมาณ 250,000 ขึ้นไปเลยทีเดียว

ในเมืองเฮลซิงกิเลยก็จะแพงขึ้นอีกจากราคาปริมณฑล...

ส่วนเรื่องดอกเบี้ย ณ ปีนี้ 2013 ก็จะประมาณ 1.3-1.7 % แล้วแต่แบงค์แหละเงื่อนไข (เช่นดาวน์กี่เปอร์เซ็นต์และความเสี่ยงของผู้กู้ ประมาณนั้น) ส่วนค่าใช้จ่าย ที่น่าสนใจที่แตกต่างจากบ้านเราเลยคือ ผู้ซื้อเป็นคนเสียภาษี (4% จากราคาซื้อขายกัน) และถ้ากู้เกิน 90% ของราคาซื้อขาย แบงค์จะมีรายการพิเศษคือ ค่าการันตี จะอยู่ประมาณ 2,000ยูโร ต่อหนี้ 100,000ยูโร แต่ถ้าหาของการันตีได้น่าเชื่อถือหน่อย เช่นบ้านสภาพไม่เกินสิบปี หรือที่ดินกว้างขึ้น หรือหาที่ดินแปลงใหม่ เข้ามาการันตี ก็อาจจะเสียค่าการันตีน้อยลงไป.. (ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของธนาคาร แต่ก็ยังต้องเสียค่าการันตีอยู่ดี) รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินของธนาคาร ก็จะอยู่ราวๆ สองพันยูโรต่อรายการกู้ (ก็เรียกว่าแพงมากเลยแหละ)

แต่ดอกเบี้ยถูกกว่าบ้านเราเน๊อะ ถ้าเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ อยากกู้จากที่นี่ไปซื้อที่เมืองไทยนะคะ ว่ามั๊ยคะ?

วันอังคารที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เก็บบลูเบอรี่ ในฟินแลนด์



... 

อันนี้ลูก ปัวลุคก่ะ นะคะ







ในหน้าร้อนของฟินแลนด์ อาชีพเก็บของป่ามาขาย เป็นที่ยอดนิยมในหมู่คนไทย และแรงงานไทยที่ขอวีซ่ามาสามเดือนเพื่อเก็บผลไม้โดยเฉพาะ  ตรงนี้เราพอทราบกันมานานกว่า  20 ปีมาแล้ว




ป้าลีเคยมีประสบการณ์ระหว่างช่วงที่เรียน อยู่ประมาณ สี่สัปดาห์ก่อนหมดฤดูกาล
เสาร์ และ อาทิตย์ ก็ไปเข้าป่า กับเพื่อน เก็บบลูเบอรี่เริ่มงานตั้งแต่ 08:00 am -1 am(นานมากๆ)
ในป่าแต่ละป่า จะมีบลูเบอรี่ขนาดไม่เท่ากัน บางป่าจะลูกเล็ก และบางป่าจะลูกใหญ่กว่ากันนิดหน่อย







ในลักษณะป่าของฟินแลนด์นั้น จะมีทางเดินเล็กๆ 
สำหรับให้คนมาเดินออกกำลังกาย หรือ พาสุนัขมาเดินเล่น

นานๆ จะมีคนวิ่งผ่านมาสักคน (คือ เงียบมาก)


และในป่าที่โล่งๆ จะไม่มีแมลงนะคะ ยกเว้นป่าทึบๆ ยุ่งตัวเท่าช้างค่ะ กัดเจ็บชิบเป้งเลย ซึ่งป่าทึบๆ จะไม่มีบลูเบอรี่

ดังนั้น เราจะเข้าไปเก็บเฉพาะป่าที่เดินง่ายๆ สะดวกๆ ไม่มียุ่งไม่มีแมลง หรือสัตว์ร้าย หรืองู ดังนั้นปลอดภัยสูงค่ะ






โปรแกรม คือ เช้าถือกระแป๋งเข้าป่า  พอ 
ห้าโมงเย็นก็ออกมาพร้อมด้วย กระแป๋งสองอันที่เต็ม(ราวๆ   10 กิโลกรัมค่ะ)



พอกลับบ้าน ทานข้าวเรียบร้อยแล้วเราก็จะมานั่งทำความสะอาดลูกบลูเบอรี่ คือ คัดเอาเฉพาะๆ ที่สวยๆ ไม่มีใบ ไม่มีก้าน

เวลาเก็บน่ะง่าย แต่ยากตรงที่ต้องทำความสะอาดนี่แหละค่ะ กินเวลา สาม หรือ สี่ชั่วโมงเลยทีเดียว
ซึ่งอันที่จริงมีเครื่องทำความสะอาด(ป้าลีไม่ทราบว่าหน้าตามันเป็นยังไงเพราะว่าเคยฟังแต่เขาเล่ามา ตัวเองยังไม่เคยซื้อเพราะว่า แค่ลองมาชิมลางกับการหาของป่ามาขายเฉยๆ ไม่คิดว่าตัวเองจะงานตรงนี้ได้)

ในสองวัน เสาร์กับอาทิตย์ สรุปว่า ได้บลูเบอรี่ ประมาณ 20 กิโลกรัมซึ่งเราจะเอาไปส่ง ในตลาดค่ะ ซึ่งตลาดในหน้านี้คือ ตลาดเปิด ผู้คนจะมาเดินหาซื้อดอกไม้ ผลไม้ ผักสด และนั่งจิบกาแฟ ชมบรรยากาศท่ามกลางแดดอุ่นๆ


























ส่วนราคาที่เราส่งก็จะมีหลายราคา ใหม่ๆ จะได้ประมาณ  5  ยูโรต่อ กิโลกรัม  หลังๆ ราคาจะลดลงไปถึงประมาณ  3 ยูโรต่อหนึ่งกิโลกรัม...

เรียกว่ากว่าจะได้เงิน ร้อยกว่ายูโรนั้น ยากเย็นแสนลำบาก เกิดมาไม่เคยได้ทำงานแบบนี้ก็ได้ทำในฟินแลนด์

ทั้งสนุกและเหนื่อยแทบขาดใจ นึกไปถึงคนงานไทยที่มาเก็บผลไม้ที่นี่ เห็นถึงความยากลำบากของเค้าเลยทีเดียว

หลายๆ คนแทบจะไม่หลับไม่นอน หรือนอนก็แค่ สอง หรือ สาม ชั่วโมงแค่นั้น

เพราะว่า หน้าร้อนในฟินแลนด์นั้น พระอาทิตย์ไม่อยากจะตก มืดพอสลัวๆ แค่สามชั่วโมงแค่นั้นเอง ตีสี่แสงก็จ้ามาแล้ว นอนไม่ค่อยหลับค่ะ ต้องลุกขึ้นมาทำนั่นทำนี่ เดินเข้าป่านี่แหละ หาเงินได้ง่ายๆ แต่กว่าจะได้ก็สูญเสียพลังงานไปไม่น้อยค่ะ...


อ่านเรื่องบ่นๆ ของเรืองจริงอิงนิยายได้ที่นี่นะคะ